4 โรคยอดฮิต หน้าฝนในเด็ก | รู้ ป้องกัน รักษาทัน

สวัสดีครับในช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยและมีฝนตก สิ่งที่มักจะตามมาคืออาการเจ็บป่วยเป็นไข้ วันนี้มาเรียนรู้จัก “4 โรคหน้าฝน” ที่มักเกิดขึ้นบ่อยในช่วงนี้กันดีกว่าว่ามีโรคอะไรกันบ้าง และมีวิธีป้องกันอะไรได้บ้าง

โรคไข้หวัดใหญ่

☔ เกิดจากเชื้อ Influenza Virus เป็นการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ
พบได้บ่อย ในคนทุกเพศทุกวัย แบ่งเป็น 2 ชนิดคือ ชนิด A และ B
.
ข้อแตกต่างเบื้องต้นของไข้หวัด (Cold) และไข้หวัดใหญ่ (Flu)แม้อาการของไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่จะค่อนข้างคล้ายกันจนอาจทำให้หลายคนสับสน แต่ผู้ป่วยมักแสดงอาการแตกต่างกันอยู่บ้าง ซึ่งสามารถสังเกตได้ ดังนี้
.
☔ อาการของไข้หวัด
ผู้ป่วยจะค่อย ๆ แสดงอาการป่วยทีละน้อย
ผู้ป่วยมักมีอาการในระบบหายใจส่วนต้น เช่น คัดจมูก ไอ จาม เจ็บคอ มีเสมหะ เป็นต้น
ผู้ป่วยไข้หวัดยังคงสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติแม้จะมีอาการป่วยรบกวนเป็นระยะ
.
☔ อาการของไข้หวัดใหญ่
ผู้ป่วยจะเกิดอาการอย่างเฉียบพลัน มีไข้สูง และมีอาการรุนแรงกว่าไข้หวัด
ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเป็นลักษณะเด่น ร่วมกับมีอาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและอ่อนเพลีย
ผู้ป่วยจะรู้สึกเพลียมากกว่าไข้หวัด และต้องการพักผ่อนมากกว่าปกติ ซึ่งควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาหากมีไข้สูงมากหรือมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีสถิติผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ค่อนข้างสูง โดยรายงานล่าสุดจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 จนถึง 20 กันยายน 2561 มีผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ทั่วประเทศรวมกว่า 114,874 ราย ดังนั้น โรคไข้หวัดใหญ่จึงเป็น 1 ในโรคที่ควรเฝ้าระวังที่สำคัญเป็นอันดับต้น ๆ
.
☔ การป้องกัน
.
ในปัจจุบันมีวัคซีนสำหรับฉีดป้องกันไวรัสที่สามารถฉีดได้ปีละครั้ง แต่ไม่สามารถป้องกันไวรัสได้ทุกชนิด รวมถึงมียาต้านไวรัสที่ได้รับการแนะนำให้ใช้ในผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และการสร้างเสริมสุขภาพร่างกาย และสุขอนามัยในการใช้ชีวิต ก็เป็นวิธีที่ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงในการป่วยไข้หวัดใหญ่ได้ด้วยเช่นกัน

โรคไข้เลือดออก

☔ ที่พบในไทยเกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งเชื้อไวรัสนี้ มี 4 ชนิด ผู้ที่เคยป่วยแล้ว
สามารถติดเชื้อซ้ำได้ ถ้าได้รับเชื้อต่างชนิดกัน หากผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน ควรไปพบแพทย์
.
☔ อาการของไข้เลือดออก
.
อาการเบื้องต้นคล้ายไข้หวัดทั่วไป เช่น มีไข้สูง ตัวร้อน ปวดหัว ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย แต่ผู้ป่วยไข้เลือดออกจะมีอาการแสดงที่รุนแรงกว่า คือ มีไข้สูงมาก ปวดหัวมาก ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อทั่วลำตัว ในบางรายอาจคลื่นไส้อาเจียน อาจพบผื่นแดงหรือจ้ำเลือดใต้ผิวหนังทั่วตัว หรือมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา เช่น มีเลือดออกตามเนื้อเยื่อในร่างกายในรายที่ร่างกายอ่อนแอและมีภูมิคุ้มกันต่ำ
.
☔ การป้องกัน
.

  • กำจัดภาชนะที่มีน้ำขังในบริเวณบ้าน เช่น
    ยางรถยนต์ ถัง ขวดน้ำ อ่างน้ำ เป็นต้น
  • ใช้สารเคมี เช่น ทรายอะเบท และยาฆ่าลูกน้ำ
    ใส่ในบ่อน้ำ ใช้สารเคมีพ่นตามบ้าน และแหล่ง
    เพาะพันธุ์ยุงลาย
  • ปกป้องร่างกาย ด้วยการใส่เสื้อแขนยาว
    กางเกงขายาว ใช้ยากันยุง ฯลฯ

โรคมือเท้าปาก

☔ เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโรไวรัส ทำให้มีตุ่ม ผื่น หรือแผลอักเสบมีหนองที่ผิวหนังบริเวณมือ ฝ่ามือ เท้า ฝ่าเท้า และภายในปาก และสร้างความเจ็บปวด โดยผู้ป่วยจะมีไข้ร่วมกับอาการป่วยอื่น ๆ ด้วย เช่น ไอ เจ็บคอ อ่อนเพลีย ปวดท้อง ไม่อยากอาหาร พบมากในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี แต่สามารถเกิดกับเด็กโตและผู้ใหญ่ได้เช่นกัน โดยทั่วไปผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นและหายป่วยภายในเวลาประมาณ 7-10 วัน
.
☔ อาการของโรคมือเท้าปาก
.
โรคมือเท้าปากมีระยะฟักตัว 3-6 วัน โดยหลังจากได้รับเชื้อ ผู้ป่วยจะเริ่มมีไข้สูง 38-39 องศาเซลเซียส เจ็บคอ ไม่อยากอาหาร ปวดท้อง และอ่อนเพลีย หลังจากมีไข้ 1-2 วัน จะเริ่มมีตุ่ม ผื่น หรือแผลอักเสบมีหนองที่ผิวหนังบริเวณมือ ฝ่ามือ เท้า ฝ่าเท้า และบริเวณปากทั้งภายนอกและภายในตามมา
.
☔ การป้องกัน
.
ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคมือเท้าปากได้ แต่มีแนวทางปฏิบัติเพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อที่จะทำให้เกิดโรค รวมถึงป้องกันการแพร่กระจายของโรคได้ เช่น ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำสะอาดบ่อย ๆ ทำความสะอาดเสื้อผ้าสิ่งของเครื่องใช้ หรือใช้น้ำยาฆ่าเชื้อทำความสะอาดกำจัดเชื้อโรคสิ่งสกปรกที่อาจมีการปนเปื้อนเชื้อ ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัว รวมทั้งไม่ใช้อุปกรณ์ในการรับประทานอาหารร่วมกับผู้ป่วยโรคมือเท้าปาก ใช้ผ้าสะอาดหรือทิชชู่ปิดปากปิดจมูกทุกครั้งที่ไอหรือจาม ไม่สัมผัสกับผู้ป่วยโรคมือเท้าปากอย่างใกล้ชิด และหากป่วยด้วยโรคมือเท้าปาก ควรลาพักรักษาตัวที่บ้านจนกว่าจะหาย

โรคชิคุนกุนยา

☔ เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่มียุงลายเป็นพาหะ โดยผู้ป่วยมักมีไข้และปวดข้อต่อ ซึ่งอาการของโรคนี้จะค่อย ๆ ดีขึ้นได้เอง จึงไม่มีวิธีรักษาที่เฉพาะเจาะจง แต่จะมุ่งไปที่การบรรเทาอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
.
☔ อาการของโรคชิคุนกุนยา
.
อาการที่พบได้บ่อย คือ มีไข้และปวดข้อต่อ ผู้ป่วยอาจอ่อนเพลีย ปวดหัว คลื่นไส้ ปวดกล้ามเนื้อ ข้อต่อบวม และมีผื่นขึ้นด้วย ซึ่งอาการอาจเกิดขึ้นหลังจากโดนยุงที่ติดเชื้อกัด 3-7 วัน และอาจเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน แบบกึ่งเฉียบพลัน หรือแบบเรื้อรัง โดยอาการของโรคมักคล้ายกับอาการของไข้หวัดใหญ่

โดยปกติ ผู้ป่วยมักหายขาดจากโรคชิคุนกุนยาภายใน 1 สัปดาห์ แต่ในบางรายอาจมีอาการปวดข้อต่อนานหลายเดือนหรือเป็นปี แม้โรคนี้อาจไม่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต แต่ก็อาจทำให้เกิดอาการรุนแรงได้ โดยเฉพาะเด็กที่ติดเชื้อตั้งแต่เกิด ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันเลือด โรคเบาหวาน โรคหัวใจ เป็นต้น ส่วนผู้สูงอายุที่ร่างกายไม่แข็งแรงก็อาจป่วยถึงขั้นเสียชีวิตได้ แต่พบได้น้อย นอกจากนี้ ผู้ที่เคยติดเชื้อแล้วก็มีแนวโน้มที่จะไม่กลับมาติดเชื้ออีกในอนาคต
.
☔ การป้องกัน
.
ผู้ที่อาศัยอยู่หรือต้องเดินทางไปยังประเทศที่มีการแพร่กระจายของโรคชิคุนกุนยา อาจป้องกันการติดโรคได้ ดังนี้

  • ระวังไม่ให้ยุงกัด โดยใส่เสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว
  • ใช้ยาไล่เเมลงหรือยาจุดกันยุงที่อาจช่วยป้องกันยุงภายในอาคารได้
  • อยู่ในห้องที่มีประตูและหน้าต่างมุ้งลวด หรือห้องปิดสนิทที่มีเครื่องปรับอากาศ
  • เด็กเล็ก ผู้ป่วย หรือผู้สูงอายุที่นอนกลางวัน ควรนอนในมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวดเพื่อป้องกันยุงกัด
  • กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เช่น แหล่งน้ำขังตามธรรมชาติ ภาชนะที่มีน้ำขัง เป็นต้น
  • ในสถานที่ที่มีการแพร่กระจายของโรค อาจพ่นยาฆ่าแมลงเพื่อฆ่ายุงและลูกน้ำยุงลายตามแหล่งน้ำที่พบยุงชุกชุม

?อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย อย่าลืมดูแลสุขภาพกันด้วยนะครับ
ด้วยความปรารถนาดีจาก โรงพยาบาลวิรัชศิลป์

ขอขอบคุณข้อมูล
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, ดูแลตัวเองช่วงหน้าฝน เลี่ยงเจ็บป่วยง่าย, การดูแลลูกน้อยช่วงหน้าฝน, พบแพทย์.com, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, สำนักระบาดวิทยา, สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร, สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค , กระทรวงสาธารณสุข

Share Post: